เวลา

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วิทยาลัยครูแห่งแรกของประเทศไทย


การกำเนิดวิทยาลัยครูแห่งแรก  เกิดขึ้นในรัฐสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาของชาติให้ชาติมีความมั่นคง  ซึ่งการส่งเสริมการศึกษาให้กับคนในชาติที่ดีย่อมจะนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบไป    เพื่อสนองต่อการขยายตัวของโรงเรียน  ก่อตั้ง  “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์”  เพื่อสร้างบุคลากรทางการศึกษา  สังกัดกระทรวงธรรมการ  โดยเปิดทำการสอนครั้งแรก  เมื่อวันที่ 12  ตุลาคม  พ.ศ. 2435  โดยมีมิสเตอร์กรีนรอด  เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก   โดยโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  มีวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งเพื่อผลิตครูสำหรับรองรับการขยายตัวของระบบการศึกษา 
โดยสถานที่ตั้งครั้งแรกอยู่ในบริเวณโรงเลี้ยงเด็ก ตำบลสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง  และมีการย้ายสถานที่ไปหลายแห่ง
ต่อมาในรัฐสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ได้เปลี่ยนแปลงเป็นแผนกครุศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และเมื่อสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นสถาบันอุดมศึกษา  โรงเรียนข้าราชการพลเรือนต่าง ๆ  ได้รวมสังกัดกระทรวงธรรมการ  จึงทำให้โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  ย้ายไปสังกัดกรมศึกษาธิการ  วันที่ 15  พฤษภาคม  พ.ศ. 2469  โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู  และย้ายสถานที่ตั้งไปยัง ที่พระราชวังสนามจันทร์  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร  และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น  “โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร  และพัฒนาหลักสูตรขึ้นเรื่อยๆ และย้ายสถานที่ตั้งอีกครั้งมาเช่าที่ดินวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

ปี  1 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร ขึ้นเป็น "วิทยาลัยครูพระนคร"


วิทยาลัยครูแห่งแรกของไทย  จึงเป็น  “วิทยาลัยครูพระนคร”  ปัจจุบัน  คือ   “มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร”

มดกินอะไรเป็นอาหาร

มดชอบอาหารและน้ำ (อาจแตกต่างไปตามสายพันธุ์)
มดชอบกินอาหารเหมือนกับคน ซึ่งก็คืออาหารที่มีส่วนประกอบของ เกลือ ไขมัน และน้ำตาล และมดก็กินแมลงประเภทอื่นๆ ด้วยเช่นกัน วิธีต่างๆ เช่น กำจัดเศษอาหารหรือปิดภาชนะอาหารของคนหรือของสัตว์ให้มิดชิด ทำความสะอาดอาหารที่หก มัดหรือนำขยะออกไปทิ้งให้เรียบร้อย ทั้งหมดนี้สามารถช่วยลดปัญหามดรบกวนใจได้ อย่าปล่อยให้พื้นบ้านของคุณเป็นงานเลี้ยงของมด

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ แมวแสนน่ารัก

แมวเหมียวเป็นสัตว์เลี้ยงอันดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงกันในบ้าน ด้วยนิสัยขี้อ้อน น่ารัก และแสนซน จึงทำให้ใครหลายๆคนต้องหลงรัก แต่ยังมีอีกหลายเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแมวหน้าตาบ้องแบ๊วที่คุณอาจจะยังไม่รู้ วันนี้จึงจะนำ 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับน้องแมวแสนซน ซึ่งจะทำให้คุณได้รู้จักแมวเหมียวได้ดีมากยิ่งขึ้น
1. แมวมองเห็นในความมืดได้ดีกว่าคน 6 เท่า
แมวเป็นสัตว์ที่หากินในช่วงพลบค่ำและรุ่งสาง ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกมันจึงต้องมีสายตาในยามกลางคืนที่ดี ตาของแมวมีเซลล์รูปแท่ง (rod cell) มากกว่าคน 6-8 เท่า ทำให้สายตาของแมวไวในที่มีแสงน้อยมากกว่า อีกทั้งตาของแมวที่มีรูปร่างเป็นวงรีและมีกระจกตาขนาดใหญ่ และมีชั้นเนื้อเยื่อทาพีตัม (tapetum) ที่จะสะท้อนแสงกลับสู่จอเรตินา ช่วยรวมแสงได้ดีขึ้น เนื้อเยื่อทาพีตัมช่วยเลื่อนความยาวคลื่นของแสงที่ตาแมวมองเห็น ทำให้เหยื่อหรือวัตถุอื่นๆ ในตอนกลางคืนดูเด่นชัดมากขึ้น และเซลล์แท่งพิเศษในตาแมวยังช่วยให้แมวมีสัมผัสความเคลื่อนไหวในความมืดได้ดีกว่าที่คนเราจะเห็นได้
2. ลิ้นแมวที่เป็นมากกว่าลิ้น
ลิ้นแมวก็มีหน้าที่รับรสเหมือนกับคน แต่ลิ้นของแมวมีความพิเศษกว่าคนตรงที่มันมีความสากบนลิ้น มีลักษณะเป็นตะขอ ตะขอเหล่านี้มีโครงสร้างเป็นโปรทีน ที่เรียกว่า เคราติน เหมือนกับ เส้นผม และเล็บของเรานั่นแหละ โดยลิ้นสากของแมวมีประโยชน์มากมายใช้แทนหวีทำความสะอาดขนที่ตายแล้วให้หลุดออก ใช้ลิ้นสากในการลอกเศษเนื้อออกจากกระดูกและกาง ใช้ลิ้นสากในการตวัดน้ำ อย่างหมาจะต้องงอลิ้นเป็นตัว J เพื่อจะได้ตวัดน้ำขึ้นมา แต่แมวแค่จุ่มลิ้น แล้วใช้ความสากของลิ้นดึงน้ำขึ้นมากินได้อย่างง่ายดาย แมวสามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่มีฟันเลยสักซี่ แต่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่มีลิ้น
3. แมวที่มีขนขาวและตาสีฟ้า มักจะหูหนวก
แมวสีขาวล้วน ดวงตาสีฟ้า และอาการหูหนวกแต่กำเนิดในแมวมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่เนื่องจากชั้น Tapetum Lucidum ซึ่งเป็นชั้นที่ฉาบเนื้อเยื้อในดวงตา ผลิตขึ้นจากเซลล์ต้นกำเนิด stem cell เดียวกับ melamocytes หรือเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีให้แก่ผิวหนังและเส้นขน ขณะที่อาการหูหนวกแต่กำเนิด จะเป็นผลมาจากการขาดแคลนชั้นเซลล์ของหูชั้นใน ซึ่งผลิตขึ้นจากเซลล์ต้นกำเนิดแหล่งดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน โดยแมวตาสองสีจะมีโอกาสหูหนวกเฉพาะหูข้างเดียวกันกับดวงตาสีฟ้า ส่วนหูข้างดวงตาสีเหลืองมักได้ยินปกติ แต่ไม่เสมอไปที่แมวตาสีฟ้าจะหูหนวกโดยกำเนิด โดยเฉพาะหากแมวต่างพ่อต่างแม่ เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากพันธุกรรมที่ได้รับสืบทอดกันมาจากผู้ให้กำเนิด
4. เสียงครางของแมวไม่ได้บ่งบอกว่ามีความสุขเสมอไป
การที่แมวทำเสียงครางนั้น เพราะเป็นเสียงแรกที่แมวสามารถทำได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะในขณะนั้น พวกมันยังไม่สามารถทำเสียงสูง หรือ เสียงต่ำได้ จึงทำให้ได้ยินเสียงครางบ่อยๆ และเข้าใจว่าแมวกำลังมีความสุขนั่นเอง การร้องครางเป็นการส่งเสียงที่ไม่ปกติ เนื่องจากเป็นเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งการหายใจเข้าและหายใจออก การกระตุ้นกล้ามเนื้อบางส่วนในลำคอตามการเคลื่อนไหวของกะบังลมทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศภายในอกของตัวแมว ซึ่งส่งผลให้เกิดเสียงคราง เสียงครางสามารถสื่อสารได้หลากหลายความหมาย เช่น อยากให้แม่แมวมาดูแล ในแมวโตมักส่งเสียงนี้เวลาที่มีความสุข เมื่อเจอกับเจ้าของหรือแมวตัวอื่นที่เป็นมิตร โดยบางตัวอาจแสดงอาการกลิ้งไปมาหรือเอาคางมาถูขณะที่ส่งเสียง ในทางตรงกันข้ามแมวที่บาดเจ็บหรือป่วยหนักมาก ๆ อาจส่งเสียงครางแบบนี้ได้เช่นกัน แต่ลักษณะของเสียงจะยาวและต่อเนื่องมากกว่าปกติ บางครั้งก็จะทำเสียงครางเบาๆก็เพื่อปลอบใจตัวเองเมื่อรู้สึกเจ็บหรือหวาดกลัว
5. แมวเลียขนนานๆ ใช่แค่ทำความสะอาดร่างกาย
เรามักจะคิดว่าส่วนใหญ่ เจ้าแมวเลียขนตัวเองเพื่อทำความสะอาดขนของตัวเอง แต่แท้จริงแล้วยังมีเหตุผลอีกมากมายที่น้องแมวเลียขน เช่น เลียขนเพื่อดึงรั้งขนที่ตายแล้วให้หลุดออก และเป็นการกระตุ้นให้ต่อมรากขน ให้มีการเจริญใหม่ของชั้นผิวหนังและขนได้ดียิ่งขึ้น ช่วยทำให้ตัวเจ้าเหมียวกันน้ำได้ดีและไม่เปียกฝน เลียขนเพื่อระบายความร้อนเนื่องจากแมวมีต่อมเหงื่อที่อุ้มเท้าเท่านั้น การหอบจึงไม่สามาระบายความร้อนได้เพียงพอ การเลียขนตัวให้เปียกจึงเป็นอีกวิธีในการคายความร้อน หากแมวถูกแสงแดดพวกมันจะเลียขนของตัวเองมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพื่อระบายความร้อนนะ หากที่เลียขนนั้นเพราะว่าแสงแดดที่ส่องลงมา ทำปฏิกิริยากับขนของแมวจนเกิดสารอาหารที่จำเป็นชนิดหนึ่งซึ่งก็คือ วิตามินดี แมวจะรับวิตามินดีด้วยการเอาลิ้นไปเลียขนที่ถูกแสงแดด เพื่อรับสารอาหารชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายนั่นเอง





ช้างสำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีทั้งหมด 10 เชือก ในปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต 
ยกเว้นพระเศวตวรรัตนกรี ซึ่งได้ล้ม ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2510 และพระเศวตสุรคชาธาร ซึ่งล้ม ณ โรงช้างต้น เมื่อ พ.ศ. 2520 สำหรับรายชื่อที่ช้างเผือกเชือกทั้งหมด มีดังนี้




 1. พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ

          ช้างพลายเผือกโท ลูกเถื่อน นายแปลก คล้องได้ที่ จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. 2499 พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อยเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11พฤศจิกายน พ.ศ. 2502

          หลังจากสมโภชขึ้นระวางแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา) เป็นการชั่วคราว ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงช้างต้น ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ. 2519

 2. พระเศวตวรัตนกรีฯ

          ช้างพลายเผือกลูกบ้าน ตกลูกที่บ้านนายแก้ว ปัญญาคง ตำบลอ่อนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่พันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้น ระวาง ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2509

 3. พระเศวตสุรคชาธารฯ

          ช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน นายเจ๊ะเฮง หะระดี กำนันตำบลการอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้ลูกช้างพลัดแม่ พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์จำพวกช้าง 10 หมู่ ชื่อ ดามพหัตถี สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2511

 4. พระศรีเศวตศุภลักษณ์ฯ

          ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน ชื่อเจ้าแต๋น กรมป่าไม้ได้มาจากอำเภอ พนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำไปเลี้ยงไว้ ณ วนอุทยานเขาช่อง จังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และอธิบดีกรมป่าไม้ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2519

 5. พระเศวตศุทธวิลาศฯ

          ช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน ชื่อบุญรอด คนงานของกรมป่าไม้ได้พบลูกช้างที่ป่าบริเวณแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้นำมาเลี้ยงไว้ ณ อุทยานเขาเขียว จังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมป่าไม้ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงษ์ จำพวกอัฎฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2520

 6. พระวิมลรัตนกิริณีฯ

          ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน ชื่อ ขจร นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้มาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน ณ ทุ่งสีกัน กรุงเทพฯ นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป้ฯช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อกมุท สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2520

7. พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ

          ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน ชื่อจิตรา นายมายิ มามุ ราษฎร บ้านกูมุง หมู่ที่ ๗ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้ลูกช้างพลัดแม่บนเทือกเขากือซา นายวัชร สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น้อมกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ อัญชัน สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2520

8. พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ

          ช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน ชื่อภาศรี นายสุรเดช มหารมย์เจ้าของไร่ภาศรี ใกล้เขื่อนแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้มาจากชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านหนองปีนแตก ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวายสมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงษ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์

9. พระเทพวัชรกิริณีฯ

          ช้างพังเผือกลูกเถื่อน ชื่อขวัญตา พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ได้มาจากนายสนิท ศิริวานิช กำนันตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์

 10. พระบรมนัขทัศฯ

          ช้างพลายเผือกเล็บครบ ลูกเถื่อน ชื่อดาวรุ่ง พระปลัดบุญส่งธัมมปาโล เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ ได้มาจากราษฎร อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้นำมาเลี้ยงไว้ที่วัดเขาบันไดอิฐ คู่กับช้างพัง "ขวัญตา" นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อครบกระจอก เป็นช้างที่มีเล็บครบ 20 เล็บ คือเท้าละ 5 เล็บทั้ง 4 เท้า

          จากข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ช้างเผือก ถือเป็นช้างสำคัญหายาก ที่อยู่คู่บารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน และข่าวการค้นพบช้างเผือกในครั้งนี้ หากพบว่าเป็นช้างเผือกจริง อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประชาชนจะมีโอกาสได้ชมพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ซึ่งหาดูได้ยากอีกด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน , สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน , สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  

ตำนานเมืองหนองหาร (ผาแดง-นางไอ่)

ครั้งหนึ่งยังมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อ นครเอกชะทีตา มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ ปกครองเมืองด้วยความร่มเย็น พระยาขอมมีพระธิดาสาวสวยนามว่า "นางไอ่คำ" ซึ่งเป็นที่รักและหวงแหนมาก จึงสร้างปราสาท 7 ชั้น ให้อยู่พร้อมเหล่าสนม นางกำนัล คอยดูแลอย่างดี

ขณะเดียวกันยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ เมืองผาโพง มีเจ้าชายนามว่า ท้าวผาแดง เป็นกษัตริย์ ปกครองอยู่ ได้ยิน กิตติศัพท์ความงามของธิดา ไอ่คำมาก่อนแล้ว ใคร่อยากจะเห็นหน้า จึงปลอมตัวเป็นพ่อค้าพเนจรถึงนครเอกชะทีตา และติดสินบนนางสนมกำนัล ให้นำของขวัญลอบ เข้าไป ให้นางไอ่คำ ด้วยผลกรรมที่ผูกพันมาแต่ชาติปางก่อน นางไอ่คำและท้าวผาแดงจึงได้มีใจ ปฏิพัทธ์ต่อกัน จนในที่สุดทั้งสองก็อภิรมย์สมรักกัน
ก่อนท้าวผาแดงจะจากไป เพื่อจัดขบวนขันหมากมาสู่ขอนางไอ่คำ ทั้งสองได้คร่ำครวญต่อกัน ด้วยความอาลัยยิ่ง วันเวลาผ่านไปถึงเดือน 6 เป็นประเพณีแต่โบราณของเมืองเอกชะทีตา จะต้องมีการทำบุญบั้งไฟบูชาพญาแถน พระยาขอมจึงได้ประกาศบอกไปตามหัวเมืองต่างๆ ว่าบุญบั้งไฟปีนี้จะเป็นการหาผู้ที่จะมาเป็นลูกเขยอีกด้วย ขอให้เจ้าชายหัวเมืองต่างๆ จัดทำบั้งไฟ มาจุดแข่งขันกัน ผู้ใดชนะก็จะได้อภิเษก กับพระธิดาไอ่คำด้วย

ข่าวนี้ได้ร่ำลือไปทั่วสารทิศ ทุกเมืองในขอบเขตแว่นแคว้นต่างๆ ก็ส่งบั้งไฟเข้ามาแข่งขัน เช่น เมืองฟ้าแดดสูงยาง เมืองเชียงเหียน เชียงทอง แม้กระทั่งพญานาคใต้เมืองบาดาล ก็ได้ยินร่ำลือจนสิ้น จนท้าวพังคีเจ้าชายพญานาคเมือง บาดาลก็อดใจไม่ไหว ปลอมตัวเป็น กระรอกเผือก มาดูโฉมงามนางไอ่คำ ด้วยในวันงานบุญบั้งไฟ เมื่อถึงวัน แข่งขัน จุดบั้งไฟ ปรากฏว่า บั้งไฟท้าวผาแดงจุดไม่ขึ้นพ่นควันดำอยู่ 3 วัน 3 คืน จึงระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้ความหวังท้าวผาแดงหมดสิ้นลง
ขณะเดียวกัน ท้าวพังคีพญานาคที่ปลอมเป็นกระรอกเผือก มีกระดิ่งผูกคอน่ารักมาไต่เต้น อยู่บนยอดไม้ข้าง ปราสาท นางไอ่คำ ก็ปรากฏร่าง ให้นางไอ่คำเห็น นางจึงคิดอยากได้มาเลี้ยง แต่แล้วก็จับไม่ได้ จึงบอกให้นายพรานยิงเอาตัวตายมา ในที่สุดกระรอกเผือกพังคี ก็ถูกยิง ด้วยลูกดอก จนตาย ก่อนตายท้าวพังคีได้อธิษฐานไว้ว่า "ขอให้เนื้อของข้าได้ แปดพันเกวียน คนทั้งเมืองอย่าได้กินหมดเกลี้ยง"
จากนั้นร่างของกระรอกเผือกก็ใหญ่ขึ้น จนผู้คนแตกตื่นมาดูกันและจัดการแล่เนื้อนั้นแบ่งกัน ไปกินทั่วเมือง ด้วยว่าเป็นอาหารทิพย์ ยกเว้นแต่พวก แม่ม่ายที่ชาวเมืองรังเกียจ ไม่แบ่งเนื้อ กระรอกให้ พญานาคแห่งเมืองบาดาล ทราบข่าว ท้าวพังคีถูกมนุษย์ฆ่าตายแล่เนื้อไปกิน กัน ทั้งเมือง จึงโกรธแค้นยิ่งนัก ดึกสงัดของคืนนั้นเอง ขณะที่ชาวเมือง เอกชะทีตากำลังหลับไหล

เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ท้องฟ้าอื้ออึงไปด้วย พายุฝน ฟ้ากระหน่ำลงมาอย่างหนักอยู่ มิได้ขาด แผ่นดินเริ่มถล่มตัวยุบตัวลงไปทีละน้อย ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของผู้คนที่วิ่งหนีตาย เหล่าพญานาคผุด ขึ้นมา นับหมื่นนับแสนตัว ถล่มเมืองชะทีตาจมลบงใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน 3-4 แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่าย ที่ไม่ได้กินเนื้อ กระรอกเผือกจึงรอดตาย
ฝ่ายท้าวผาแดงได้โอกาสรีบควบม้าหนีออกจากเมือง โดยไม่ลืมแวะรับพระธิดาไอ่คำไปด้วย แต่แม้จะเร่งฝีเท้าม้าเท่าใดก็หนีไม่พ้นทัพพญานาคที่ ทำให้แผ่นดินถล่มตามมาติดๆ ในที่สุดก็กลืนท้าวผาแดงและพระธิดาไอ่คำ พร้อมม้าแสนรู้ชื่อ "บักสาม" จมหายไปใต้พื้นดิน

รุ่งเช้าภาพของเมืองเอกชะทีตาที่เคยรุ่งเรืองโอฬาร ก็อันตธานหายไปสิ้น คงเห็นแต่พื้นน้ำ กว้างยาว สุดตา ทุกชีวิตในเมืองเอกชะทีตาจมสู่ใต้บาดาล จนหมดสิ้นเหลือไว้แต่แม่ม่ายบนเกาะร้าง 3-4 แห่ง ในผืนน้ำอันกว้างนี้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนองหารหลวงดังปรากฏในปัจจุบัน
ประวัตเมืองหนองหารหลวง ประวัติเมืองหนองหารหลวงไม่มีหลักฐาน ปรากฏไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากผู้เฒ่าผู้แก่ ของเมืองได้จดจำถ้อยคำของพระบรรเทา กรมการเมืองขุขันธ์คนเก่ากับเพี้ยศรีคอนชุม ซึ่งเป็นหัวหน้าข้าพระธาตุเชิงชุมว่า หลังจาก พระยาสุวรรณภิงคาระ สิ้นพระชนม์ลง เหล่าเสนา ข้าราชการผู้ใหญ่ชาวเขมร ก็ได้ผลัดเปลี่ยน กันเข้ามาปกครอง เป็นเจ้าเมือง หนองหารหลวง ต่อกันมาเรื่อยๆหลายยุคหลายสมัย
ต่อมาได้เกิดทุกขภัยฝนแล้งมา 7 ปี ราษฎรไม่ได้ทำนา เกิดความอดอยากข้าปลาอาหารไม่มีจะกิน เจ้าเมืองอพยพ ราษฎรอยู่ที่เมืองหนองหาร หลวงไปอยู่ที่เมืองเขมรกันหมด ทิ้งให้เมืองหนองหารหลวงกลายเป็นเมืองร้าง
ต่อมาในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยครอบครัวมาตั้งรักษา พระธาตุเชิงชุม จนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็นเมืองสกลทวาปี โดยตั้งให้ อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก
ต่อมาปี พ.ศ. 2369 สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ เจ้าเมืองสกลทวาปีไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมือง เจ้าพระยาบดินทร์ เดชานุชิต(สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาตรวจราชการเห็นว่าเจ้าเมืองกรมการไม่เอาใจใส่ต่อบ้านเมืองปล่อย ให้ข้าศึก (ทัพเจ้าอนุวงศ์) ล่วงล้ำได้ โดยง่าย จึงสั่งให้นำตัวพระธานีไปประหารชีวิตที่หนองทรายขาว
พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนในเมืองสกลทวาปีไปอยู่ที่ กบินทร์บุรีบ้าง ประจันตคามบ้าง ให้คงเหลือรักษาพระธาตุเชิงชุม แต่พวกศรีคอนชุม ต.ธาตุเชิงชุม บ้านหนองเหียน บ้านจานเพ็ญ บ้านอ่อมแก้ว บ้านธาตุเจงเวง บ้านพราน บ้านนาคี บ้านวังยางและบ้านพรรณา รวม 10 ตำบล เพื่อให้เป็นข้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุมเท่านั้น
ในสมัยต่อๆมาได้มีราชวงศ์คำแห่งเมืองมหาชัยกองแก้ว ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้อพยพข้ามแม่น้ำ โขงเข้ามาขอพึ่ง พระบรมโพธิสมภาร ขอสร้างบ้าน แปงเมืองขึ้นใหม่ที่เมืองสกลทวาปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ราชวงศ์คำเป็น พระยาประเทศธานี(คำ) ในตำแหน่งเจ้าเมืองสกลทวาปี และทรงเปลี่ยน นามเมืองใหม่เป็น สกลนคร ตั้งแต่บัดนั้นมา
Credit: สำนักงานสถิติจังหวัดสกลนคร